วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา

คำถาม  นิติเหตุคืออะไร?  
ตอบ นิติเหตุ คือ เหตุที่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในทางกฎหมาย (กฎหมายกำหนดให้มีผลทางกฎหมาย) มี 2 ลักษณะ คือ
1) เกิดโดยธรรมชาติ เช่น เวลาล่วงเลยไปทำให้บุคคลอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ กลายเป็นผู้บรรลุนิติภาวะทางกฎหมาย
 2) เกิดโดยการกระทำของบุคคล ถ้าตั้งใจให้เกิดผลในทางกฎหมาย (นิติกรรม) และไม่ตั้งใจให้เกิดผลทางกฎหมายแต่ผลทางกฎหมายก็เกิด เช่น ละเมิด, จัดการนอกสั่ง,ลาภมิควรได้) 
            คำถาม  กฎหมายเอกชน กับ กฎหมายมหาชนต่างกันอย่างไร ?
ตอบ กฎหมายเอกชนเป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชนซึ่งมีฐานะเสมอกัน ส่วนกฎหมายมหาชนเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งรัฐมีอำนาจเหนือกว่าเอกชน (เช่น การเวนคืนที่ดิน) แต่อำนาจนั้นต้องเป็นไปตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ตามหลักการที่ว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” และการที่รัฐจะทำการใด ๆ นั้น ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก 
ข้อสังเกต 
           -  เรื่องระหว่างรัฐกับเอกชนใช่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายมหาชนเสมอไป เช่น กระทรวง ก. ต้องการซื้อเครื่องเขียนไปใช้ในสำนักงาน จึงติดต่อซื้อกับบริษัท ข. การติดต่อซื้อขายนี้ ไม่ใช่การใช้อำนาจรัฐในทางนิติสัมพันธ์กับเอกชนตามกฎหมายมหาชน 
           - ในทางกฎหมายมหาชนนั้น กฎหมายจะต้องเขียนไว้ถึงจะมีอำนาจทำได้ แต่กฎหมายเอกชนถ้ากฎหมายไม่ห้ามไว้ อาจทำได้ แต่ก็มี “กรอบ” ไม่ใช่มีอิสระที่จะทำทุกเรื่อง คำว่า “กรอบ” หมายถึง กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นั่นเอง 
           -  อะไรคือ กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ? อันนี้หลักสำคัญต้องดูที่เจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละเรื่องไป ถ้าขัดก็ทำไม่ได้ เช่น ในทางกฎหมายเอกชน การตกลงที่ต่างจากกฎหมายกำหนดเรื่องดอกเบี้ย นาย ก.กู้ยืมเงิน นาย ข. โดยตกลงกันว่าจะต้องจ่ายดอกเบี้ย 20% ต่อปี อย่างนี้ในทางกฎหมายถือว่าข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ นาย ข.ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและนาย ก.มีความผิดในทางอาญาด้วย ตามพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา 
             คำถาม  กฎหมายใดบ้างที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ?
 ตอบ * กฎหมายแพ่งและพาณิชย์บางมาตรา เช่น 
        -  กฎหมายว่าด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ม. 150) เช่น นาย ก. จ้างนาย ข. ไปฆ่านาย ค. ผิด ม.150 
        -  กฎหมายว่าด้วยแบบของนิติกรรม (ม.152) เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ 
        -  กฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรม (ม.153) เช่น กรณีผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม คือ บิดามารดา เป็นต้น การนั้นเป็นโมฆียะ 
        -  กฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองความมั่นคงของสถาบันครอบครัว เช่น กรณีจดทะเบียนสมรสซ้อน 
        -  กฎหมายที่กำหนดไว้เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอก เช่น กรณีเรื่องแบบ 
        -  กฎหมายที่กำหนดไว้เพื่อคุ้มครองคู่กรณีฝ่ายที่อ่อนแอกว่าในทางเศรษฐกิจ เช่น การที่นายจ้างจะตกลงให้ค่าจ้างขั้นต่ำแก่ลูกจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ 
        -  กฎหมายเกี่ยวกับอายุความ เช่น อายุความการกู้ยืมเงินมีอยู่ 10 ปี ถ้าตกลงกันให้อายุความมี 20 ปี (เป็นประโยชน์กับเจ้าหนี้) ข้อตกลงนี้เป็นโมฆะ 
          * กฎหมายอาญา 
          * กฎหมายวิธีพิจาณาความ 
           * กฎหมายมหาชน 
ข้อสังเกต 
          -  กรณีที่ทำต่างจากที่กฎหมายกำหนด ซึ่งไม่ขัดกับ “กรอบ” สามารถทำได้ เช่น ม.457 (ตัวบท) ค่าฤาชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย กรณีนี้ถ้าหากมีการตกลงกันให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจ่ายก็ได้ แต่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เพื่อป้องกันในกรณีที่ต่างฝ่ายต่างไม่ตกลงที่จะจ่าย หรือ ม.458 (ตัวบท) กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน แต่ถ้าตกลงกันต่างจากนี้ เช่น การซื้อขายรถ ถ้าตกลงกันว่าอีก 5 วันจะมีการส่งมอบให้ ให้ผู้ซื้อชำระราคาในวันที่ส่งมอบและให้กรรมสิทธิ์โอนในวันที่ชำระราคานั้น ตกลงกันอย่างนี้ “ได้” เพราะ ม.458 ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 
             คำถาม  นิติกรรม หมายถึงอะไร?
 ตอบ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 149 ความว่า “นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยสมัครใจ มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ” 
             ประเด็นดังกล่าวนี้ได้แยกองค์ประกอบของนิติกรรมเป็น 6 ประการ ได้แก่ 
1) เป็นการแสดงเจตนา 
              คำว่า “การ” ซึ่งเป็นคำแรกในตัวบทนี่แหล่ะมุ่งหมายถึง “การแสดงเจตนา”ออกมา อะไรจึงเรียกว่าเป็นการแสดงเจตนา ? ก็คือ การคิดตัดสินใจและทำในสิ่งที่คิดตัดสินใจนั้น โดยรู้สำนึกในสิ่งที่ตนทำนั่นเอง 
               ทั้งนี้ การกระทำบางอย่างอาจจะไม่ใช่การแสดงเจตนาก็ได้ เช่น คนละเมอแล้วมาเซ็นต์สัญญา(ความจริงอาจไม่มี แต่ยกตัวอย่างที่เห็นภาพง่ายๆ ) หรือการที่ถูกบุคคลอื่นใช้กำลังกายบังคับ (บังคับทางกายภาพ) โดยไม่อาจขัดขืนได้ เช่น ถูกจับพิมพ์ลายนิ้วมือทำพินัยกรรม อันนี้ก็ไม่ใช่การแสดงเจตนาเพราะผู้ทำไม่ได้ทำการโดยคิดตัดสินใจเอง 
                แต่กรณีตัวอย่าง เช่น นายเอ ใช้มีดจี้ข่มขู่ให้นายบีเซ็นต์สัญญา กรณีนี้เมื่อนายบีเซ็นต์ จัดเป็นการแสดงเจตนา แต่จะมีผลอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (ผลคือ การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆียะ ตาม ม.164 การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ เป็นโมฆียะ) 
วิธีการแสดงเจตนาทำได้อย่างไรบ้าง ? ตอบ วิธีการแสดงเจตนาสามารถทำได้ 3 ลักษณะ คือ 1) การแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง เช่น พูด เขียนหรือแสดงกริยา เช่น พยักหน้า 2) การแสดงเจตนาโดยปริยาย (อันนี้ต้องตีความจึงเข้าใจเจตนา) เช่น ผู้ให้กู้ฉีกสัญญากู้ อาจเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายที่จะปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ 3) การนิ่ง โดยทั่วไปไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนา ยกเว้นแต่กรณีที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติหรือปกติประเพณีที่เข้าใจกันและที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่า แต่ผู้เช่ายังครองทรัพย์สินที่เช่าอยู่ ผู้ให้เช่าก็เฉยอยู่ทั้งที่รู้ว่าสิ้นกำหนดเวลาแล้ว แต่มิได้ดำเนินการใด ๆ อันนี้ทำให้เป็นการที่คู่สัญญาได้ทำสัญญาใหม่โดยไม่มีกำหนดเวลา (ตาม ม.570) 
ข้อสังเกต 
            ถ้าไม่มีการแสดงเจตนา ก็จะไม่มีนิติกรรม 
2) เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย 
             คำว่า “ชอบด้วยกฎหมาย” นั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีกฎหมายรองรับทุกกรณีไป แต่ต้องไม่ขัดกับ “กรอบ” หลักความสงบเรียบร้อยฯ เช่น กรอบตาม ม.150 , 152 เป็นต้น 
ข้อสังเกต 
              แม้การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายก็ยอมให้เกิดนิติกรรม แต่เป็นนิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์ 
3) ทำโดยสมัครใจ คือ เป็นการตัดสินใจทำเอง 
4) ต้องการก่อให้เกิดผลผูกพันในทางกฎหมาย 
              การกระทำตามารยาทในทางสังคมหรือในทางอัธยาศัยไมตรีหรือการพูดล้อเล่น ไม่เป็นการมุ่งต่อผลในทางกฎหมาย เช่น นาย ก.บอกนาย ข.ว่าจะไปส่ง ข.ที่บ้าน แต่ต่อมา นาย ค.มาชวน ก.ไปดูหนัง นาย ก.จึงบอกนาย ข.ว่า ไม่สามารถไปส่งได้ (นาย ข.จะเอาผิดนาย ก.ในทางกฎหมายมิได้) อันนี้ไม่ใช่นิติกรรม แต่เป็นอัธยาศัยไมตรี 
ข้อสังเกต 
              ถ้าทำสิ่งใดโดยไม่มุ่งผลทางกฎหมาย นิติกรรมไม่เกิด เพราะฉะนั้นโดยภาพรวมอาจจะกล่าวได้ว่า นิติกรรมจะเกิดไม่ได้ เพราะ 1) ไม่มีการแสดงเจตนา และ/หรือ 2) ขาดการมุ่งผลทางกฎหมาย (แต่บางกรณีอาจมีข้อยกเว้น แม้จะอ้างว่าไม่มีเจตนาที่แท้จริง ก็เกิดนิติกรรม เช่น นาย ก.ส่งหนังสือให้นาย ข. แล้วบอกว่า ให้คุณ แต่ต่อมา นาย ก.ขอหนังสือคืน และบอกนาย ข.ว่า ที่ทำไปเพราะประชด นาย ค. ที่จริงไม่ได้เจตนาจะให้ เหตุดังนี้ จะอ้างว่าไม่มีเจตนา นิติกรรมไม่เกิดไม่ได้ เพราะตามมาตรา 154 บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงเจตนาจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น” เพราะฉะนั้น กรณีข้างต้นนี้ ถือว่าเกิดนิติกรรมแล้ว เพราะ ข.ก็ไม่รู้ความรู้สึกนึกคิดในใจของ ก.เลยว่าทำไปเพราะประชด ค. 
5) เป็นผลผูกพันระหว่างบุคคล 
                ตรงนี้อย่าหลงประเด็นว่าการทำนิติกรรมต้องทำหลายคนเท่านั้นน่ะ นิติกรรมฝ่ายเดียวก็มี คำว่า “ผูกพันระหว่างบุคคล” นั้น หมายถึง มีผลถึงบุคคลอื่น ๆ ด้วย เช่น การทำพินัยกรรม มีผลถึงลูกหลานที่จะรับมรดก เป็นต้น 
6) ผลนั้นคือความเคลื่อนไหวในทางสิทธิ 
                ความเคลื่อนไหวในทางสิทธิที่ว่าก็คือ ก่อให้เกิด เปลี่ยนแปลง โอน สงวน และระงับสิทธิ 
               
     นิติกรรม จึงเป็นเครื่องมือที่กฎหมายมอบให้แก่เอกชนไว้สร้างหรือก่อความผูกพันซึ่งกันและกัน ซึ่งอาจจำแนกออกเป็นกลุ่มตามความสัมพันธ์กับบุคคลได้ 3 กลุ่ม คือ 
1) นิติกรรมฝ่ายเดียว เช่น พินัยกรรม การบอกล้างโมฆียกรรม 
2) นิติกรรมสองฝ่าย ได้แก่ สัญญาต่าง ๆ เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าทรัพย์สิน 
3) นิติกรรมหลายฝ่าย เช่น การจัดตั้งห้างหุ้นส่วน บริษัท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น